บริการของเรา > บริการกำจัดหนู

การบริการกำจัดหนู

 

หนู (Rat)

                หนูเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม  จัดในอันดับ สัตว์ฟันแทะ (Order Rodentia)     หนูมีลักษณะเด่นชัด คือ มีฟันคู่หน้าทั้งบนและล่าง 2 คู่ ที่มีความแข็งแรงเป็นพิเศษและคม มีลักษณะโค้งยื่น เพื่อใช้สำหรับกัดหรือแทะสิ่งต่างๆ เพื่อให้ฟันหน้าซึ่งสามารถเจริญยาวได้ตลอดชีวิตของมัน มีขนาดสั้นพอเหมาะและคมอยู่เสมอ

                หนูแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว สามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมสภาพต่างๆ ภายในบ้านได้เป็นอย่างดี ลักษณะนิสัยของ หนู ชอบการกัดทำลายวัสดุ สิ่งของเครื่องใช้และสิ่งก่อสร้างต่างๆ เป็นประจำ เช่น ตู้  โต๊ะ เพดานบ้าน  สายไฟ สายโทรศัพท์  สายคอมพิวเตอร์  ท่อน้ำ  ผ้าม่าน   สบู่  เครื่องประดับต่างๆ  ตามถนน  คันคูน้ำ  คันนา หนู ก็จะขุดรูอาศัย เป็นผลให้เกิดการชำรุดเสียหายจนใช้การไม่ได้  ทำให้ต้องเสียเงินซ่อมแซมอยู่เสมอ   ทางด้านการเกษตรนั้นส่วนใหญ่ก็กัดกินทำลายเพื่อดำรงชีวิตและแพร่พันธุ์  หากบ้านใดมีหนูย่อมมีความเสียหายจากการทำลายของหนูติดตามมา  นอกจากผลเสียหายที่เกิดจากการกัดทำลายของหนู ทำให้เสียหายด้านการเกษตรและเศรษฐกิจแล้ว พฤติกรรมในการดำรงชีวิตของมันทำให้มันเป็นตัวการสำคัญที่นำโรคต่างๆ มาสู่คนได้อีกด้วย     ในปีหนึ่ง ๆ หนู 1 คู่สามารถมีลูกหลานได้มากกว่า 1,000 ตัว  ในสภาพที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ตลอดปีและไม่มีศัตรูธรรมชาติ     

             สำหรับในประเทศไทยมีหนูสกุลที่สำคัญอยู่  3 สกุล ได้แก่ สกุลหนูพุก (Bandicota spp.)  สกุลหนูท้องขาว (Rattus spp.)  และสกุลหนูหริ่ง (Mus spp.)     ส่วนหนูที่มีความสำคัญทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะหนูที่อาศัยทำรังและหากินอยู่ในบ้านหรือบริเวณรอบๆ บ้าน นั้นสามารถพบเห็นได้และจำแนกได้  4  ชนิด ซึ่งน่าจะศึกษาเรื่องราวของแต่ละชนิด เพื่อเป็นแนวทางในการควบคุมและป้องกันต่อไปนี้

 

1. หนูนอร์เวย์ (Rattus norvegicus)

               หนูนอร์เวย์ (Rattus norvegicus) บางที่เรียกหนูขยะ หนูท่อ หนูสีน้ำตาล หนูชนิดนี้เป็นหนูที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในตระกูล มีน้ำหนักตัว 300 - 350 กรัม บางตัวอาจมีน้ำหนักถึง 400 กรัม ขนาดลำตัวและหัวยาวประมาณ 180 - 250 มม. หางยาวประมาณ 150 - 220 มม. ตีนหลังยาวประมาณ 35 - 40 มม. หูยาวประมาณ 17 - 23 มม.  มีลักษณะรูปร่างขนหยาบมีสีน้ำตาลปนเทา ห้องสีเทา ส่วนจมูกทู่ ใบหูเล็ก ตาเล็ก หางสั้นมี 2 สี ด้านบนสีดำ ด้านล่างสีจาง มีเกล็ดหยาบๆ ที่หาง และด้านบนของตีนหลังมีสีขาว มีเต้านมรวม 6 คู่ อยู่ที่อก 3 คู่ ท้อง 3 คู่มักอยู่ตามรู ตามท่อระบายน้ำโสโครก ท่อน้ำ ใต้ถุนตึกหรือบ้านเรือน บริเวณลำคลอง กองขยะมูลฝอย ไม่ชอบขึ้นที่สูง กินอาหารบูดเน่า พวกแป้ง ผัก เนื้อ และปลา การแพร่พันธุ์ ออกลูกปีละ 4 – 7 ครอก ลูกหนึ่งครอกมีจำนวน 8 –12 ตัว ระยะทางการหากิน 100 – 150 ฟุต ลักษณะมูล หนู มีขนาดใหญ่คล้ายแคปซูลยาวประมาณ 3-4 นิ้ว

 

2. หนูท้องขาว (Rattus rattus)

               หนูท้องขาว หรือเรียกว่า หนู หลังคา (roof rat) เป็นหนูตระกูล Rattus ที่มีขนาดใหญ่ปานกลางรูปร่างเพรียว มีน้ำหนักตัว 90-250 กรัม บางตัวอาจมีน้ำหนัก 360 กรัม ขนาดลำตัวและหัวยาวประมาณ 182 มม. หางยาวประมาณ 188 มม. ตีนหลังยาวประมาณ 33 มม. ความยาวใบหูประมาณ 23 มม. มีเต้านมรวม 5-6 คู่ อยู่ที่อก 2 คู่ที่ท้อง 3 คู่ขนด้านหลังมีสีน้ำตาล (ฐานขนสีเทาปลายสีน้ำตาล) ไม่มีขนคล้ายหนาม (spine) ขนส่วนท้องมีสีขาวปนเทาหรือเหลืองครีม จมูกแหลม ตาโปน มีขนาดหูใหญ่ หางมีสีดำและมีเกล็ดละเอียดตลอดหาง ความยาวของหางมากกว่าความยาวของลำตัว  ชอบอาศัยอยู่ตามอาคารบ้านเรือน หลังคาบ้าน บริเวณกันสาดใต้หลังคา ถ้าบริเวณรอบบ้านมีต้นไม้ แผ่กิ่งก้านสาขาอยู่ใกล้เคียงอาจพบหนูท้องขาวและรังอยู่บนต้นไม้นั้นด้วย มีความสามารถในการปีนป่ายเก่งกินอาหารทุกชนิด อาหารที่ชอบมากคือ เมล็ดพืช เช่น ข้าวเปลือก ถั่วข้าวโพด การแพร่พันธุ์ ออกลูกปีละ 4-6 ครอก ลูกหนึ่งครอกมีจำนวน 6-8 ตัว ระยะทางหากิน 100-150 ฟุต ลักษณะมูลเป็นรูปกระสวย ปลายแหลม ขนาดความยาวไม่เกิน1-2 นิ้ว

 

3. หนูจี๊ด (Rattus exulans)

              เป็นตระกูลของ Rattus ที่มีขนาดเล็ก แต่ตัวโตกว่าหนูหริ่ง น้ำหนักตัวประมาณ 36 กรัม ขนาดลำตัวและหัวยาวประมาณ 115 มม. หางยาวประมาณ 128 มม. ตีนหลังยาวประมาณ 23 มม. ความยาวหูประมาณ 16 มม. มีเต้านมรวม 4 คู่ อยู่ที่หน้าอก 2 คู่ ที่ท้อง 2 คู่  รูปร่างเพรียว จมูกแหลม ตาโต หูใหญ่ ขนด้านหลังสีน้ำตาลมีลักษณะอ่อนนุ่ม มีขนแข็ง (spine) ขึ้นแซมบ้างเล็กน้อย ขนด้านท้องสีเทา ผิวหางเรียบไม่มีเกล็ดมีสีดำตลอด  อาศัย ตามบ้านเรือน ชอบที่สูงตามซอกมุมที่ลับตา อาคาร  บนเพดาน และมีความสามารถในการปีนป่ายเก่งเหมือนหนูท้องขาว  ตัวเมียออกลูกครั้งละ 8 – 12 ตัว ระยะทางหากิน 20 – 50 ฟุต เวลาออกหากินกลางคืนจะส่งเสียงร้องจี๊ดๆ ให้ได้ยิน

 

4. หนูหริ่ง (Mus musculus)

             บางครั้งเรียกว่า house mouse เป็นหนูในตระกูล Mus ชนิดที่พบเห็นตามบ้านเรือนมาก เป็นหนูบ้านที่มีขนาดเล็กที่สุด มีน้ำหนักตัวเพียง 10 – 15 กรัม ขนาดลำตัวและหัวยาวประมาณ 74 มม. หางยาวประมาณ 79 มม. ตีนหลังยาวประมาณ 16 มม. ใบหูยาวประมาณ 12มม. มีเต้านมรวม 5 คู่ อยู่ที่อก 3 คู่ และที่ท้อง 2 คู่  จมูกแหลม ขนด้านหลังสีเทาบางทีมีสีน้ำตาลปน มีลักษณะอ่อนนุ่ม ขนด้านท้องสีขาว ส่วนหางมี 2 สีด้านบนสีดำ ส่วนด้านล่างสีจางกว่าอยู่อาศัย ตามบ้านเรือน มักชอบหลบซ่อนตัวอยู่ตามตู้ โต๊ะ ที่เก็บของ ตามช่อง ฝาผนัง ตามครัว กินอาหารได้ทุกชนิด แต่ชอบพวกเมล็ดพืช  ออกลูกปีละประมาณ 8 ครอก ลูกหนึ่งครอกมีจำนวน 5 - 6 ตัว ระยะทางการหากิน 10 – 30 ฟุต ลักษณะมูลหนู ขนาดเล็กกลมยาวปลายแหลมยาวประมาณ 1/8 นิ้ว

               

การกำจัดหนู (Rodent Control)

             

             หนูเป็นสัตว์ค่อนข้างฉลาด และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ทั้งยังแพร่พันธุ์ได้รวดเร็ว การที่จะหาทางป้องกันและกำจัดให้ได้ผลนั้นต้องมีวิธีการที่แน่นอน  ถูกต้องตามหลักวิชาการ  และต้องปราบอย่างต่อเนื่องจึงจะสามารถลดประชากรของหนูลงได้ โดยมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

          1. สำรวจการแพร่ระบาดของหนู  เพราะช่วยให้ทราบว่ามีหนูอยู่บริเวณนั้นมากน้อยเพียงใด  ร่องรอยของหนูที่สามารถสำรวจได้  ได้แก่ รอยกัดแทะ โพรงหรือรูหนู รอยทางเดิน มูลหนู รอยเมือก กลิ่นสาบ เป็นต้น

          2. ลดที่อยู่อาศัยและป้องกันหนู  ได้แก่ การจัดสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  เพื่อลดแหล่งอาหาร ที่อยู่อาศัยของหนูและป้องกันหนูจากภายนอกเข้ามาภายในบริเวณอาคาร  ทำลายแหล่งอาหารและที่พักอาศัยของหนู การปรับปรุงอาคารสำนักงานและที่อยู่อาศัย ให้ถูกสุขลักษณะ เหมาะสม ให้ปลอดภัยจากหนู

          3. เลือกวิธีกำจัดที่ถูกต้อง  การเลือกวิธีกำจัดดูได้จากการสำรวจว่าพบหนูชนิดใด มีปริมาณมากน้อยเพียงใด การกำจัดหนูให้ได้ผลมีหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานที่และสภาพแวดล้อม

 

วิธีการกำจัดหนู

 

1. การกำจัดหนูโดยตรง  มีดังนี้

      1.1 วิธีธีกล  เช่น การใช้การวางกาว  กับดักแบบกรง  หรือกับดักแบบต่างๆ เป็นต้น

      1.2 วิธีชีวภาพ เช่น การใช้รั้วไฟฟ้า การกักน้ำให้ท่วมบริเวณที่ต้องการควบคุมชั่วคราว

 

2. การกำจัดหนูโดยใช้สิ่งมีชีวิตช่วยควบคุม

      คือการใช้สิ่งที่มีชีวิตตามธรรมชาติที่เป็นศัตรูกับหนู เช่น สุนัข แมว งู (งูเห่า งูแสงอาทิตย์ งูสิง งูเหลือม) นก (นกเค้าแมว เหยี่ยว) พังพอน  เป็นต้น   หรือการใช้เหยื่อโปรโตซัวในการกำจัดหนู โดยวิธีดังกล่าวเป็น การทำให้หนูป่วยและตาย เพื่อลดจำนวนหนู  นอกจากนี้ยังมีการใช้ปรสิตหรือเชื้อโรคชนิดอื่นๆ  ที่มีผลต่อการขยายพันธุ์ของหนู

 

3. การกำจัดหนูโดยใช้สารเคมี

      ได้แก่การวางเหยื่อพิษ ให้หนูกิน  โดย จะต้องทำการสำรวจก่อน  อาหารในบริเวณบ้านจะต้องเก็บให้มิดชิด เพื่อมิให้หนูมีโอกาสเลือกอาหารกินได้

 

ประเภทของสารเคมีกำจัดหนู

 

1. สารกำจัดหนูประเภทออกฤทธิ์ช้า (chronic poisoned rodenticides, slow acting poisoned rodenticides)

สามารถแบ่งได้อีก 2 กลุ่มย่อย คือ ออกฤทธิ์ช้ายุคแรก ต้องกินหลายครั้งถึงจะตาย (Multiple Dose) เช่น Warfarin, Coumatetralyl, Pival, Coumachlor, Diphacinone, Coumafurul, Chlorophacinone เป็นต้น และออกฤทธิ์ช้ายุคที่สอง กินครั้งเดียวตาย (Single Dose) เช่น Difenacoum, Bromadiolone, Brodifacoum, Bromethaline, Flocoumafen เป็นต้น ข้อดี คือ หนูไม่เข็ดขยาดเหยื่อ, กำจัดหนูได้หมด 100%, ปลอดภัยต่อมนุษย์และสัตว์อื่น, ป้องกันการต่อต้านจากสารกำจัดหนูยุคต้น, มียาแก้พิษ ข้อเสีย คือ มักไม่เห็นซากหนู, ตายช้าไม่ทันใจผู้ใช้

 

2. การกำจัดหนูประเภทออกฤทธิ์เร็ว (acute poisoned rodenticides, single dose rodenticides)

เป็นสารที่ออกฤทธิ์เฉียบพลันทันที เมื่อหนูได้รับสารนี้เพียงครั้งเดียว (Single dose) เช่น Arsenic, Sodium Fluoracetate, Zinc Phosphide, Castrix, Antu เป็นต้น ข้อดี คือ หยุดการทำลายของหนูฉับพลัน, ประหยัดค่าใช้จ่าย และหนูไม่สร้างภูมิต้านทานยาพิษ ข้อเสีย คือ หนูเข็ดขยาดเหยื่อ, อันตรายสูงต่อมนุษย์และสัตว์อื่น, หนูไม่ค่อยยอมรับเหยื่อ, ไม่มียาแก้พิษ

 

การกำจัดหนูโดยการวางสถานีเหยื่อพิษ

 

 

 

วิธีการปฏิบัติงาน

  1. กำหนดตำแหน่งวางเหยื่อพิษ พิจารณาจากแผนผังบริเวณสถานที่ทำบริการตลอดจนแหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งอาหาร เส้นทางหาอาหาร และทางเข้า-ออก ของหนู เป็นต้น
  2. ตำแหน่งของการวางเหยื่อพิษ จะต้องอยู่ภายนอกอาคาร รอบอาคารหรือบริเวณแนวกำแพงโดยรอบ และจะต้องไม่อยู่ในบริเวณผลิตอาหาร โกดังเก็บสินค้าหรือวัตถุดิบที่เกี่ยวข้องกับอาหารหรือบริเวณอื่นๆซึ่งอาจทำให้เกิดการปนเปื้อนกับสินค้า
  3. ตำแหน่งการวางเหยื่อพิษ กำหนดระยะห่างประมาณ 10 – 30 เมตร ต่อจุดหรือพิจารณาตามความเหมาะสมของสถานที่
  4. การติดตั้งอุปกรณ์วางเหยื่อพิษให้ช่องทางเข้ามีทิศขนานกับผนัง และวางให้ชิดกับผนัง
  5. การวางเหยื่อพิษจะต้องวางในอุปกรณ์การวางเหยื่อพิษเท่านั้น
  6. การวางกล่องวางเหยื่อพิษทุกจุดจะต้องมีหมายเลขกำกับอยู่ และระบุหมายเลขกล่องวางเหยื่อพิษ บริเวณผนังที่มีการติดตั้งกล่องวางเหยื่อพิษนั้นๆ
  7. กรณีที่วางเหยื่อพิษบริเวณนอกตัวอาคารโดยรอบ ระยะของกล่องวางเหยื่อพิษต้องห่างจาก ตัวอาคารไม่เกิน 15 เมตร ยกเว้นในบริเวณที่เป็นทางสาธารณะ เช่น ที่จอดรถ หรือทางเดิน อาจไม่จำเป็นต้องมีการวางกล่องวางเหยื่อพิษ
  8. กล่องวางเหยื่อพิษจะต้องมีการปิดล็อคฝาทุกกล่อง

 

 

การกำจัดหนูโดยการวางกรงดักหนู

 

ขั้นตอนการวางกรงดักหนู

  1. วางกรงในบริเวณที่หนูมาหาอาหาร ทางเดินของหนู โดยวางชิดกับผนัง หรือวางซ่อนตามกองอาหาร
  2. แขวนเหยื่อหรืออาหารล่อไว้ภายในกรง
  3. ทดสอบการตีปิดของกรง
  4. วาดแผนผังอย่างง่ายๆ ระบุตำแหน่งที่วางลงในแผนผังทุกครั้ง

สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการใช้กรงดักหนู คือ

  1. การใช้กรงดักมากจุดให้ผลดีกว่าการใช้น้อยจุดในแต่ละครั้งที่ทำการวางดัก
  2. อาหารที่ใช้ล่อควรเปลี่ยนชนิดทุกครั้ง และเลือกให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่
  3. หลังการใช้งาน ต้องล้างทำความสะอาด แล้วตากให้แห้ง
  4. การวางกรงไม่ควรวางต่อเนื่องติดต่อกันเกิน 1 สัปดาห์
  5. หากพบว่ามีหนูอยู่ในพื้นที่ แต่การวางกรงไม่สามารถดักจับหนูได้ ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการวาง เช่น ใช้สิ่งของปิดหรือปกคลุมกรงไว้หรือใช้ภาชนะครอบปิดกรง ให้เหลือเพียงช่องทางเข้าออกของหนูเท่านั้น

การตรวจสอบกรงดักหนู

  1. ตรวจสอบว่ามีหนูติดกรงหรือไม่ หากมีเป็นหนูชนิดใด จำนวนกี่ตัว แล้วนำไปทำลาย
  2. หากไม่พบหนูติดกรงให้เปลี่ยนเหยื่อใหม่ทุกครั้งที่เข้าทำบริการและควรเปลี่ยนชนิดของเหยื่อล่ออยู่เสมอ

 

 

การกำจัดหนูโดยการวางกระดานกาว

 

 

ขั้นตอนการวางกระดานกาว

  1. กำหนดตำแหน่งการวางกระดานกาว ตามบริเวณที่พบปัญหา
  2. วางกระดานพร้อมอาหารล่อในบริเวณที่กำหนด
  3. วาดแผนผังอย่างง่ายๆ ระบุตำแหน่งที่วางลงในแผนผังทุกครั้ง

 

สิ่งที่ควรคำนึงถึงในการวางกระดานกาว

  1. การวางกระดาน ใช้เพื่อกำจัดหนูภายในอาคาร และเพื่อตรวจสอบปัญหาหนูภายในอาคาร
  2. ห้ามใช้เหยื่อพิษวางเป็นเหยื่อล่อในกระดานกาวโดยเด็ดขาด
  3. การวางกระดานควรจะวางภายในอาคาร ในพื้นที่ที่พบร่องรอยของหนู บริเวณชิดผนัง ใต้ชั้นวางอุปกรณ์หรืออาหาร รวมทั้งบนฝ้าเพดาน
  4. ไม่ควรวางกระดานกาวในพื้นที่ที่มีน้ำขัง เพราะจะทำให้การวางไม่ได้ผล
  5. ระยะห่างวางกระดานกาว ให้พิจารณาจากชนิดของหนู และแต่ละจุดตามความเหมาะสมของสถานที่
  6. หากพบว่ามีหนูอยู่ในพื้นที่ แต่การวางกระดานกาวไม่สามารถดักจับหนูได้ ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการวาง เช่น ใช้สิ่งของปิดหรือปกคลุมกระดานกาวไว้ หรือ ใช้กล่องกระดานหรือภาชนะครอบปิดกระดานไว้ ให้เหลือเพียงช่องทางเข้าออกของหนูเท่านั้น
  7. ในกรณีที่พบหนูติดกระดานกาว ให้ทำการเปลี่ยนกระดานกาวใหม่แล้วนำกระดานกาวที่มีหนูติดไปทำลาย หรือพิจารณาตามดุลพินิจ

 

การตรวจสอบกระดานกาว

  1. ตรวจสอบว่ามีหนูติดกระดานกาวหรือไม่ หากมีเป็นหนูชนิดใด จำนวนกี่ตัว แล้วนำกระดานกาวที่มีหนูติดไปทำลาย
  2. หากไม่พบหนูติดกระดานกาวให้เปลี่ยนเหยื่อใหม่ทุกครั้งที่เข้าทำบริการและควรเปลี่ยนชนิดของ เหยื่อล่ออยู่เสมอ
  3. ตรวจสอบคุณภาพกาวดักหนูทุกครั้งที่เข้าทำบริการ และทำการเปลี่ยนใหม่ เมื่อไม่อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้ เช่น มีฝุ่น สิ่งสกปรกสะสม หรือมีซากแมลงหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มาติดอยู่ 

หมายเหตุ  ภายในโรงงงานผลิตอาหาร

- ห้ามวางกระดานกาวภายในพื้นที่ผลิตอาหารภายในโรงงานผลิตอาหาร

- ภายในห้องเก็บวัตถุดิบ หรือห้องเก็บอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาหารภายในโรงงานผลิตอาหาร จะต้องวางกระดานกาวภายใน กล่องวางกระดานกาวและห้ามมิให้วางเหยื่อพิษทุกชนิดบนกระดานกาว